หนังสือครองแผ่นดินโดยธรรม : อ่านประวัติศาสตร์ผ่านพระบรมราโชวาทและเครือข่ายในหลวงเล่มนี้ ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอุดมการณ์ หลังการปฏิวัติ 2475 ที่กษัตริย์ทรงมีส่วนกำหนดมากบ้างน้อยบ้าง ในแต่ละบริบท โดยมองผ่านบทบาทของคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น เจ้านาย นายทุนผู้นำทางการเมือง พระป่าธรรมยุตอีสาน ฯลฯ ซึ่งสัมพันธ์กับกษัตริย์แตกต่างกันไปในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายชนชั้นนำหรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย(Network Monarchy) ในบริบททางการเมืองแต่ละยุค นอกจากนี้ ยังศึกษาพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 9 เพื่อวิเคราะห์การปลูกฝังธรรมวิทยาของพลเมืองอีกด้วย จุดเด่นในงานเขียนของอาสา คำภานอกจากการใช้แนวพินิจทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) ที่พิจารณาความเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมแล้ว ยังอยู่ที่ความพยายามใช้มุมมองที่เป็นกลางแบบนักประวัติศาสตร์ ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบด้วยทัศนะวิพากษ์เพื่อหาข้อสรุปจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดเหล่านั้นแม้ใช้ทฤษฎีหรือมโนทัศน์ทางสังคมศาสตร์เป็นกรอบคิดในการวิเคราะห์ หรืออธิบาย ก็มิได้ก้าวไปสู่ข้อสรุปอย่างง่าย ๆ แต่เชื่อมโยงให้เห็นพลวัตอันเกิดจากปฏิสัมพันธ์อย่างซับซ้อนระหว่างลักษณะเฉพาะของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ กับบริบททางสังคม หรือการเมืองที่ผันแปร การอ่านหนังสือเล่มนี้ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกฝ่าย ที่ต้องการค้นหาวิธีคิดในการเข้าใจสังคมไทย และมองเห็นทางเลือกของความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น จนอาจค้นพบหนทางผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้ดำเนินไปในทิศทางที่พึงปรารถนา และเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยและสังคมโลกในยุคปัจจุบัน