เหล่งผลิตมีดเลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากฝีมือชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาวแห่งบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง ซึ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกคราวยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์หรือจะอพยพมาเอง แต่มีหลักฐานว่านายเทาเป็นผู้นำ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนนราบริรักษ์ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้มีฝีมือทางช่าง ได้แก่ ช่างทองกับช่างเหล็ก แต่เมื่อ พ.ศ. 2365 ได้เลิกอาชีพช่างทอง คงเหลือแต่การตีมีดอย่างเดียว ประกอบกับภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีดงไม้ไผ่หนาเเน่น มีหนองน้ำและแม่น้ำป่าสักไหลผ่านจึงสะดวกต่อการเดินทางและนำไม้ไผ่มาใช้เป็นองค์ประกอบในการทำมีด คือ นำมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาเหล็ก เพราะถ่านไม้ไผ่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น และนำลำต้นไปทำด้ามพะเนิน ด้ามค้อน เเละด้ามมีด สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อราว พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสด็จมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มาขอให้ชาวเวียงจันทน์กลับประเทศเเต่ชาวบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ขออยู่ใต้ร่มโพธิสมภาร สร้างชื่อเสียงจากวิชาตีมีดในเมืองไทยต่อไป สาเหตุที่ได้ชื่อว่ามีดอรัญญิก เป็นเพราะสมัยโบราณมีตลาดที่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากหมู่บ้านต้นโพธิ์เเละหมู่บ้านไผ่หนองประมาณ 3 กิโลเมตร