Product description
หนังสือ “พุทธวจน ฉบับ มรรควิธีที่ง่าย” ฉบับที่ 4
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคแห่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร
ที่ผู้คนแข่งกันรู้ให้ได้เร็วที่สุดไว้ก่อนนั้น ได้นำ พาสังคมไปสู่
วิถีชีวิตที่เสพติดในความง่ายเร็วลัด ของขั้นตอนการเรียนรู้
โดยละทิ้งความถูกต้องตรงจริงในการรู้นั้นไว้เป็นอันดับรองในแวดวงของชาวพุทธยุคใหม่
แม้ในส่วนที่มีปัญญาพอเห็นโทษภัยในทุกข์ มีจิตน้อมไปในการภาวนาแล้ว
ก็ยังไม่พ้นที่จะมีการพูดถึงเกี่ยวกับ มรรควิธีที่ง่าย ลัดสั้น
ปัญหามีอยู่… คือ การหมายรู้ ในคำว่า “ง่าย”
โดยในแง่ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจนั้น มีความหมาย
ไม่ตรงกับรายละเอียดในมรรควิธีที่ง่าย ซึ่งบัญญัติโดยพระตถาคต
เมื่อนิยามตั้งต้นไม่ตรงกันเสียแล้ว จะต้องกล่าวไปไยในรายละเอียดอื่นๆ ที่ตามมา
เมื่อพูดถึงคำว่า “ง่าย” โดยทั่วไป มักจะถูกเข้าใจ
ในลักษณะว่า เป็นอะไรสักอย่างที่ได้มาโดยไม่มีขั้นตอนยาก
ได้มาโดยไม่ต้องลงแรง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก
ใช้การขวนขวายน้อย ใช้ข้อมูลน้อย ใช้การใคร่ครวญน้อย
ใช้การกระทำ น้อย …กระทั่งไม่ต้องทำ อะไรเลย
ในขณะที่ปฏิปทา (วิธีการกระทำ เพื่อให้ได้มา) ที่นำ ไปสู่การบรรลุมรรคผล
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงอธิบาย ไว้นั้น ประกอบด้วยหลักการที่วางต่อกันอยู่ ๒ ส่วน คือ
๑. ส่วนของมรรควิธีที่เลือกมาใช้ซึ่งเป็นตัวกำหนด ระดับความสบายในการปฏิบัติ
๒. ส่วนของเหตุในความเร็วช้าในการบรรลุซึ่งแปรผันตามระดับความอ่อนแก่ของอินทรีย์ห้า
ในส่วนแรก คือ มรรควิธีที่เลือกมาใช้นั้น ทรงแบ่งออกไว้เป็นสองแบบคือ
ทุกขาปฏิปทา และ สุขาปฏิปทา
ทุกขาปฏิปทา คือมรรควิธีที่ไม่ได้สุขวิหารในขั้นตอนปฏิบัติเพราะเน้นการใช้ทุกข์เป็นเครื่องมือในการรู้แจ้งซึ่งอริยสัจ
ส่วนสุขาปฏิปทา คือการอาศัยสุขเป็นเครื่องมือในการรู้ผู้ปฏิบัติจึงได้สุขวิหารไปด้วยในระหว่างปฏิบัติเพื่อสิ้นทุกข์
ในส่วนของเหตุที่บรรลุเร็วหรือช้านั้นคืออินทรีย์ห้า
(ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)