Product description
หนังสือ พุทธวจน แก้กรรม ฉบับที่ 5
ในครั้งพุทธกาล มีภิกษุอธิบายเกี่ยวกับวิญญาณว่า
วิญญาณ คือสภาพที่รับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ สื่อสารพูดคุยได้
เป็นผู้รับผลของกรรมดีกรรมชั่ว เป็นผู้ที่แล่นไป ท่องเที่ยวไป
พระพุทธเจ้าทรงเรียกภิกษุรูปนั้นมาสอบทันที
เมื่อได้ความตรงกันกับที่ถูกโจทก์แล้ว ทรงตำหนิโดยการ เรียกภิกษุรูปนี้ว่า “โมฆะบุรุษ” ซึ่งแปลตามความหมายว่า
บุคคลอันเปล่า ไร้ประโยชน์ เป็นโมฆะ มีไว้ก็เท่ากับไม่มี จากนั้น ทรงพยากรณ์ว่า การพูดผิดไปจากคำของตถาคต
เช่นนี้ จะทำให้ประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปนักที่จะทำความเข้าใจว่า
วิญญาณ โดยนัยของขันธ์ห้านั้น ไม่ใช่ตัวสัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีกริยารู้ได้ และเป็นปฏิจจสมุปปันธรรม
คืออาศัยเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้นมีอยู่ ส่วนสัตว์ บุคคลผู้ทำกรรม รับกรรมนั้น คือขันธ์ห้า อันประกอบด้วยอุปาทาน
ปรุงแต่งเสร็จไปแล้ว ว่าเป็นนี้ๆ เป็นนั้นๆ คำถามก็คือ บุคคลประเภทไหนที่สนใจกรรม
วิบากกรรมในขันธ์ห้า (อันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)
นี้คำตอบก็คือ บุคคลที่ยังมีความเห็นในวิญญาณว่า คือผู้รับรู้ ผู้กระทำ ผู้รับผลของกรรม คือผู้ท่องเที่ยว
เวียนว่ายไป โดยนัยลักษณะเดียวกับภิกษุรูปนั้น ในครั้งพุทธกาล
คำถามอาจมีขึ้นอีกว่า จะมีบ้างไหมบางคน ที่ไม่สนใจ ไม่แยแส ไม่อยากรู้ ในเรื่องของกรรม
และวิบากของกรรมในแง่มุมต่างๆ ภายใต้ความเห็นว่าใช่ตัวตนในอุปาทานขันธ์
ไม่สนใจ การที่มีที่เป็นแล้วนี้ ว่าเกิดจากกรรมนี้ๆ ในภพโน้นๆ
ไม่แยแส แก้กรรมในภพโน้นๆ ที่ส่งผลอยู่นี้ ด้วยกรรมนั้นๆ
ไม่อยากรู้ ว่าทำ กรรมแบบนั้นๆ แล้วจะได้รับผลแบบไหนๆ
คำตอบพึงมีว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (ทิฏฐิสัมปันนะ)
มีอยู่คือเข้าสู่แล้วในสัมมัตตนิยาม เข้าสู่แล้วในระบบที่ถูกต้อง
เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (โสตะ) คือทางอันเป็นอริยะ ฐานะที่เป็นไปไม่ได้ ของผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ นั่นคือ
ยึดมั่นความตามเห็นขันธ์ในส่วนอดีต (ปุพพันตานุทิฏฐิ)
และยึดมั่นความตามเห็นขันธ์ส่วนอนาคต (อปรันตานุทิฏฐิ)
พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิแล้วนี้ จะมีความรู้เข้าใจอันพิเศษเฉพาะ
ซึ่งหาไม่ได้ในปุถุชนทั่วไป ทุกข์ จะค่อยๆ ดับไป ในทุกๆ ก้าวบนหนทางและเป็นผู้ที่
จะไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มีสัมโพธิเป็นเบื้องหน้าที่สุด
สังคมพุทธในวันนี้ แม้จะยังมีความเจริญในระบบธรรมวินัยอยู่ก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบุคคลในข่าย “โมฆะบุรุษ” ดังครั้งพุทธกาลนั้น
โมฆะบุรุษนี้ คือผู้ที่ขับเคลื่อนการกระทำต่างๆ ที่ออกนอกแนวทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปเรื่อยๆ
และนำพาโลกไปด้วยระบบคิดที่ปรารภขันธ์ห้าโดยความเป็นตน
ทั้งหมดนี้ทำขึ้นภายใต้การอ้างถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เราอาจเคยได้ยิน การอ้างถึงพระธรรมคำสอน
ในส่วนของศีลธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของข้อปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียน
อันนำ มาซึ่งวิบากอันดีต่อตนเอง และหมู่สัตว์ทั้งหลายโดยรวม
อีกทั้ง ยังเป็นเหตุให้ได้บังเกิดในภพที่เต็มไปด้วยสุขเวทนา ธรรมะ ในแง่มุมระดับศีลธรรมนี้
ได้ถูกเข้าใจไปว่าเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งความสุขมีประมาณต่างๆ อันเป็นผลจากการกระทำที่ดีนั้น
และเพื่อให้มีภพต่อๆ ไปที่ดีเท่านั้น ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ต่อระบบศีลธรรมนี้
เกิดจากการไม่รู้แจ้งแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ในพุทธวจน
เรื่องทาน ศีล สวรรค์ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในอนุปุพพิกถา ๕
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้แสดงต่อฆราวาส ผู้ที่ยังมีจิตจมอยู่ในความสุขแบบโลกๆ ยังไม่พร้อมที่จะเข้าถึงอริยสัจได้ทันที
ทานกถา คือ การให้ การสละ สีลกถา คือ ระบบศีลธรรม
สัคคกถา คือ สุขแบบสวรรค์ กามาทีนวกถา คือ โทษแห่งกาม
และ เนกขัมมานิสังสกถา คือ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม
เมื่อผู้ฟัง มีจิตอ่อนโยน ปลอดนิวรณ์ นุ่มเบาควรแก่การแล้วจึงทรงแสดงอริยสัจสี่
อันเป็นจุดประสงค์หลักเพียงอันเดียวของการเทศนาแต่ละครั้ง
สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือ การตัดทอนคำ สอนโดยแยกเน้นเวียนวนอยู่ เฉพาะเรื่องของทาน ศีล สวรรค์
ยิ่งไปกว่านั้น หากบวกเข้าไปด้วยกับบุคคลที่ยังไม่พ้นการดำรงชีพด้วยมิจฉาอาชีวะแบบของสมณะ
คือ เลี้ยงชีพด้วยการทำนาย การดูหมอ ดูฤกษ์ และอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวง ที่รวมเรียกว่าติรัจฉานวิชา
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเสมือนขบวนการที่ผันแปรธรรมวินัย ให้กลายเป็นลัทธิใหม่อะไรสักอย่างที่
ไม่ใช่พุทธ แต่อ้างความเป็นพุทธ แล้วนำ พาผู้คนที่หลงทางอยู่แล้ว ให้ยิ่งผูกติด พันเกี่ยวอยู่แต่ในภพ
หนังสือ พุทธวจน ฉบับ แก้กรรม โดยพระตถาคต นี้
คือการรวมหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เกี่ยวกับกรรม
โดยผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นได้ทันทีคือ ความรู้ในเรื่องกรรม ว่า
กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลพึงทราบทั้งหมด ๖ แง่มุมด้วยกันเท่านั้น
เป็นการรู้ที่จะนำ ไปสู่การหลุดพ้นจากระบบแห่งกรรมที่หมู่สัตว์ติดข้องอยู่มานานนับนี้
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ หนทางให้ถึงความดับแห่งกรรม โดยตัวของอริยมรรคเอง มีแล้ว
ซึ่งการสร้างวิบากอันเป็นเลิศมีพร้อมแล้วซึ่งอานิสงส์คือการนำ ไปสู่การสลัดคืนอุปาทานขันธ์
นั่นคือ การกระทำ กรรม เพื่อให้ระบบกรรมทั้งหมดทั้งปวงนั้นกลายเป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง
คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขอนอบน้อมสักการะ
ต่อ ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
และ ภิกษุสาวกในธรรมวินัยนี้
ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงยุคปัจจุบัน
ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบทอดพุทธวจน
คือ ธรรม และวินัย ที่ทรงประกาศไว้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว