ตุงทราย ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาที่ใช้ปักเจดีย์ทรายช่วงในประเพณีปีใหม่เมือง มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปเทวดา โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่อทำบุญถวายเทพเทวดาที่รักษาดูแลรักษาตัวเรา และขอขมาสิ่งที่ได้ล่วงเกินในปีที่ผ่านมา และนำไปไปปักบนเจดีย์ทรายพร้อมกับตุงอื่นๆ เช่น ตุงช่อน้อย ซึ่งเมื่อโดนลมก็จะปลิวไสวสวยงามอยู่บนเจดีย์ทราย
๔. ตุงช่อน้อย หรือตุงจ้อน้อย ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในงานปอยหลวง งานกฐิน หรือพิธีสืบชะตา วัสดุที่ทำผืนตุงทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ มักเป็นกระดาษสา กระดาษว่าว และตัดให้มีลายต่าง ๆ ได้ตามใจ เพื่อเพิ่มความสวยงามของตุง ส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก และนิยมตัดขอบตุงเป็นขั้นบันได เปรียบเสมือนการสั่งสมความดีไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวขึ้นสู่สวรรค์ โดยหากมีขนาดใหญ่หน่อยก็เรียกว่า ตุงช่อจ๊าง หรือตุงจ้อช้าง
๕. ตุงไชย หรือตุงไจย เป็นตุงที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการรบของทหาร ในขณะที่ทำการรบชนะข้าศึกก็จะทำการปักตุงเพื่อแสดงว่าได้รับชัยชนะจากข้าศึกทำให้เกิดขวัญและกำลังใจ ซึ่งก็หมายความว่าธงชัย สำหรับในปัจจุบันไม่ได้ทำการรบกันก็จะนำมาใช้ประกอบงานพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญกฐิน โดยทำการปักเรียงรายตามสองข้างทางเข้าสู่วัด หรือหน้าพระประธานในวิหารหรือโบสถ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เพื่อให้เจ้าของตุงหรือผู้ร่วมถวายได้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร หรือการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน วัสดุที่ทำผืนตุงส่วนใหญ่มักจะทอจากเส้นด้าย เส้นไหม หรือผ้าชนิดต่างๆ จะมีสีเดียวหรือสลับสีกัน ลวดลายที่ใช้จะเป็นลวดลายที่เป็นมงคล