ประเพณี "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" เป็นพิธีโบราณของทางเหนือ โดย "รดน้ำดำหัว" เป็นการไปรดน้ำขอขมาและขอพรจากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ในอดีต การรดน้ำ คือ การอาบน้ำจริงๆ ส่วน ดำหัว เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม หมายถึง การสระผม ซึ่งก็เป็นการไปสระผมให้ผู้ใหญ่ โดยใช้น้ำส้มป่อย หรือน้ำมะกรูด
ความหมายของ "การรดน้ำดำหัว" นอกจากจะเป็นการขอพรจากผู้อาวุโส เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ไทยแล้ว ยังมีความหมายแฝงอีกอย่างคือ การแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เพื่อขอโทษต่อสิ่งที่เคยล่วงเกิน ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือว่าลับหลัง
การรดน้ำดำหัวในปัจจุบัน จะกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ หรือ วันเถลิงศก เพียงวันเดียว โดยบุตรหลานของผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาบ้านเกิดเพื่อรวมตัวกัน รดน้ำดำหัว และขอพรจากผู้สูงอายุ
สิ่งของที่จะนำไปทำการขอสูมาลาโทษ และขอพรจากผู้สูงอายุ ประกอบด้วย น้ำอบน้ำหอม น้ำส้มป่อย เทียน ดอกไม้ ของขวัญ เงิน หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ผู้ไปดำหัวจะกล่าวคำขอขมาลาโทษ ขอให้อโหสิกรรมให้ และอวยพรให้ท่านประสบแต่ความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
จากนั้นจะเอาขันเล็กๆ ตักน้ำหอม น้ำปรุง นำมารดที่ฝ่ามือของญาติผู้ใหญ่ ก่อนที่ญาติผู้ใหญ่นำน้ำหอม น้ำส้มป่อย ขึ้นลูบศีรษะ เป็นการยอมรับการขอขมาและอโหสิกรรม แล้วกล่าวให้ศีลให้พร
นอกจากการ รดน้ำดำหัว ญาติผู้ใหญ่แล้ว ยังมีการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ซึ่งลักษณะจะคล้ายๆ กัน แต่มีพิธีการมากกว่า คือ ก่อนที่จะรดน้ำพระสงฆ์ จะต้องรดน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ จากนั้น ก็รับพรจากพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิยมทำตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์